โดย ธูปพลังจิตจักรวาล...
by Antiga Ariyachawul
(อาจารย์ อันติกา อริยชวัล)

ความหมายของการทำบุญตักบาตร

วัตถุประสงค์ของการตักบาตร
นอกจากจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการให้ทานเพื่อบูชาคุณแล้ว
ยังมีวัตถุประสงค์เฉพาะดังต่อไปนี้
1.ธำรงส่งเสริมและสืบทอดพระพุทธศาสนา
2. ส่งเสริมและบำรุงพระภิกษุสามเณร ผู้ทรงศีล ทรงธรรม
3. ส่งเสริมคุณความดีของผู้ปฏิบัติ ทั้งผู้ตักบาตรและพระภิกษุสามาเณรผู้รับบิณฑบาต
ด้วยเหตุผลดังกล่าวการตักบาตรจึงเป็นประเพณีที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติ เพราะเป็นการให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณร ทำให้พระภิกษุสามเณรไม่ต้องกังวลกับเรื่องอาหาร ทำให้พระภิกษุสามเณรได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยได้เต็มที่ เพื่อจะนำธรรมะมาเผยแพร่ต่อประชาชนเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาให้มั่นคงถาวรสืบไป
ความเป็นมาของการทำบุญตักบาตร

เมื่อครั้งพุทธกาล คราวที่พระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทรงประทับที่สวนมะม่วงแห่งหนึ่งพระองค์เสด็จบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์เมืองหลวงของแคว้นมคธ ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาตก็ชวนกันนำอาหารมาตักบาตรเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมา การตักบาตรจึงถือเป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆประทับอยู่ที่ควงไม้เกด มีพ่อค้า 2 คน นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร จึงเป็นที่มาของการทำบุญตักบาตรตั้งแต่นั้นมา...
คำอธิษฐานในการตักบาตร
จะใช้ภาษาบาลีหรือภาษาไทยหรือใช้ทั้งสองภาษาก็ได้ ดังนี้
“สุทินนัง วะตะเม ทานัง อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ”
แปลว่า ทานของเราให้แล้วด้วยดี ขอจิตข้านี้จงสิ้นอาสวกิเลสเทอญ ....
เมื่อทำบุญตักบาตรแล้ว เพื่อความสบายใจว่าผลบุญจะได้ไปถึงบุคคลและสัตว์ที่ล่วงลับไปแล้ว ผู้สะเดาะเคราะห์จะมีการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลตาม การกรวดน้ำนี้สามารถทำได้ด้วยตัวเองพร้อมกับคำกรวดน้ำอย่างย่อที่จำได้ง่าย เมื่อกรวดน้ำเสร็จแล้วก็นำน้ำนั้นไปเทรดต้นไม้
คำกรวดน้ำ แบบย่อ
“อิทัง เม ญาตินัง โหตุ”
แปลว่า ขอส่วนแห่งบุญกุศล จงสัมฤทธิ์ผลแก่ญาติข้าดั่งตั้งใจผลบุญที่ได้จากการใส่บาตร
เมื่อผู้ใดได้ใส่บาตร บุญที่ทำจะส่งผลถึงบรรดาวิญญาณต่างๆที่อยู่ในนรกได้รับส่วนบุญนั้น ต่างอำนวยพรให้แก่ผู้ที่ใส่บาตรให้ได้รับผลบุญในชาติที่ทำ จะเป็นคนมั่งมีศรีสุขพ้นจากฐานะอันยากจนมีความเจริญก้าวหน้า มีฐานะระดับเศรษฐีและเมื่อสิ้นไปแล้วก็จะได้เกิดเป็นเทวดาสุขสบายอยู่บนสรวงสวรรค์

by Antiga Ariyachawul
(อาจารย์ อันติกา อริยชวัล)
Copyright article from www.promdeva.com.
No comments:
Post a Comment