Saturday, December 11, 2010

ซิกมุนด์ ฟรอยด์

ซิกมุนด์ ฟรอยด์



ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (อังกฤษ: Sigmund Freud, IPA: [ˈziːkmʊnt ˈfrɔʏ̯t], 6 พ.ค. 239923 ก.ย. 2482) เป็นนักจิตวิทยาชาวออสเตรีย เป็นผู้ที่สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางด้านการพัฒนา Psychosexual โดยเชื่อว่าเพศหรือกามารมณ์ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาของมนุษย์ แนวคิดดังกล่าวเกิดจากการสนใจศึกษา และสังเกตผู้ป่วยโรคประสาทด้วยการให้ผู้ป่วยนอนบนเก้าอี้นอนในอิริยาบทที่สบายที่สุด จากนั้นให้ผู้ป่วยเล่าเรื่องราวของตนเองไปเรื่อย ผู้รักษาจะนั่งอยู่ด้านศีรษะของผู้ป่วย คอยกระตุ้นให้ ผู้ป่วยได้พูดเล่าต่อไปเท่าที่จำได้ และคอยบันทึกสิ่งที่ผู้ป่วยเล่าอย่างละเอียด โดยไม่มีการขัดจังหวะ แสดงความคิดเห็น หรือตำหนิผู้ป่วย ซึ่งพบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้รักษาได้ข้อมูลที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของผู้ป่วย และจากการรักษาด้วยวิธีนี้เองจึงทำให้ฟรอยด์เป็นคนแรกที่สร้างทฤษฎีจิตวิเคราะห์

ซิกมันด์ ฟรอยด์ เกิดที่แคว้นโมราเวีย. ครอบครัวของเขาย้ายไปที่กรุงเวียนนาตอนเขาอายุ 3 ขวบ และเขาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จนกระทั่งปีท้ายๆ ของชีวิต. ฟรอยด์เข้าศึกษาที่สำนักการแพทย์ของมหาวิทยาลัยเวียนนาเมื่อเขามีอายุได้ 17 ปี เขามีความสนใจในความหลากหลายของการวิจัยที่นี่. แม้ว่าฟรอยด์จะมีความสนใจหลักในการวิจัยทางประสาทวิทยา แต่เขาจำเป็นต้องปฏิบัติงานทางคลินิกเพราะปัญหาเรื่องการได้รับการจ้างงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งเลวร้ายมากในกรณีของเขา จากทัศนคติและการเมืองที่ต่อต้านชาวยิว. หลังจากการทำวิจัยอิสระและทำงานทางคลินิกที่โรงพยาบาลเวียนนามามากพอสมควร ฟรอยด์ออกมาทำงานส่วนตัว โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางประสาทและฮิสทีเรีย.
ระหว่างช่วงเวลานี้ ฟรอยด์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิธี “การปลดปล่อยอารมณ์อย่างรุนแรง” (catharsis) ของโจเซฟ บริวเออร์ (Joseph Breuer) เพื่อนร่วมงานของเขา ในการรักษาอาการฮิสทีเรีย ซึ่งอาการหายไปเมื่อผู้ป่วยระลึกถึงความทรงจำที่เป็นบาดแผลในขณะที่อยู่ภายใต้การสะกดจิต และทำให้ผู้ป่วยสามารถแสดงอารมณ์ดั้งเดิมซึ่งถูกเก็บกดไว้และลืมมันไป. ในการค้นคว้าความคิดนี้เพิ่มเติม ฟรอยด์ใช้เวลาหลายเดือนในการศึกษาวิธีการของฌอง-มาร์ติน ชาร์โคต์ (Jean-Martin Chacot) ในการรักษาฮิสทีเรียโดยการสะกดจิต. เมื่อเดินทางกลับเวียนนา ฟรอยด์เริ่มต้นงานในการค้นหาวิธีการที่คล้ายกันในการรักษาโดยไม่ใช้การสะกดจิต ซึ่งมีข้อจำกัดที่เขาพบว่าไม่น่าพึงพอใจ. นอกจากฟรอยด์จะเรียนรู้จากการสังเกตอาการและประสบการณ์ของผู้ป่วยของเขา เขายังใช้การวิเคราะห์ตัวเองจากความฝันอย่างเข้มงวดอีกด้วย. ในปี 1895 เขาและบริวเออร์ตีพิมพ์หนังสือ Studies on Hysteria ซึ่งเป็นตัวบทที่เป็นหมุดหมายสำคัญของจิตวิเคราะห์ และในปี 1900 ผลงานชิ้นสำคัญของฟรอยด์ คือ หนังสือ The Interpretation of Dreams ก็ได้ปรากฎขึ้น.
ในช่วงเวลานี้ ฟรอยด์ทำงานโดยใช้องค์ประกอบที่สำคัญในระบบจิตวิเคราะห์ของเขา คือ การใช้การระบายออกอิสระ (free association) และการปลดปล่อยอารมณ์อย่างรุนแรง โดยใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจจิตไร้สำนึก ซึ่งเป็นการระบุถึงความทรงจำที่ถูกเก็บกดไว้และเหตุผลสำหรับการเก็บกดพวกมันไว้ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยรู้จักตนเองอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น. ผู้ป่วยซึ่งได้รับการผ่อนคลายบนเก้าอี้นอนในออฟฟิตของเขา ได้รับคำสั่งให้ระบายออกทางความคิดอย่างอิสระ ซึ่งช่วยให้เกิดการตระหนักรู้ที่มีประโยชน์ และได้รับคำสั่งให้แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาถึงสิ่งที่ปรากฎขึ้นในใจ. จากการรักษากับผู้ป่วยและการวิเคราะห์ตัวเองของเขา ฟรอยด์มีความเชื่อว่าความผิดปกติทางจิตซึ่งไม่ปรากฎสาเหตุทางกายเกิดจากการตอบสนองในเชิงสัญลักษณ์ (symbolic reaction) ต่อความกระทบกระเทือนทางจิตใจ (psychological shock) โดยทั่วไปมาจากเรื่องเพศ และความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับความกระทบกระเทือนทางจิตใจเหล่านั้นจะส่งผลทางอ้อมต่อเนื้อหาของความฝันและกิจกรรมของจิตสำนึก แม้มันจะถูกเก็บกดไว้ในจิตไร้สำนึกก็ตาม.
ฟรอยด์ตีพิมพ์หนังสือ The Psychopathology for Everyday Life ในปี 1904 และอีก 3 เล่มในปีต่อมา เช่น Three Essay on the Theory of Sexuality ซึ่งผลักดันความคิดของเขาเกี่ยวกับพัฒนาการของสัญชาติญาณทางเพศของมนุษย์ หรือลิบิโด (libido) รวมถึงทฤษฎีลักษณะทางเพศในวัยเด็ก (childhood sexuality) และปมออดิปุส (Oedipus complex) ในขณะที่ความสนใจจากแวดวงวิทยาศาสตร์และสาธารณะชนดำเนินไปอย่างเชื่องช้า ในต้นทศวรรษ 1900 ฟรอยด์ได้ดึงดูดกลุ่มคนที่สนใจงานของเขา เช่น คาร์ล ยุง (Carl Jung) อัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) และออตโต แรงค์ (Otto Rank) มาพบปะเพื่ออภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเป็นประจำทุกสัปดาห์ที่บ้านของเขา และต่อมากลายเป็นกลุ่มที่ชื่อว่า Vienna Psychological Society. แม้ว่าในที่สุดยุงและแอดเลอร์จะแยกตัวออกไปตั้งทฤษฎีและสำนักในการวิเคราะห์ของตัวเอง แต่การสนับสนุนของพวกเขาในช่วงแรกช่วยก่อตั้งจิตวิเคราะห์ให้เป็นกระแสแนวคิด (movement) ที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ. ในปี 1909 ฟรอยด์ได้รับเชิญให้ไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยคล๊าก เมืองวอร์เชสเตอร์ รัฐแมซซาชูเซต โดยอธิการบดี เซอร์ จี. แสตนลีย์ ฮอลล์ (1844 – 1924) นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียง และฟรอยด์ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์จากที่นี่. หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ฟรอยด์ได้รับชื่อเสียงมากขึ้นจากการที่จิตวิเคราะห์ได้รับความสนใจจากแวดวงปัญญาชนและได้รับความนิยมจากสื่อ.
ฟรอยด์ยืนยันว่าบุคลิกภาพของมนุษย์ถูกกำหนดโดยพลังที่เรียกว่า “สัญชาติญาณ” (instincts) หรือ “แรงขับ” (drives). ต่อมา เขาเชื่อในการมีอยู่ของสัญชาติญาณแห่งความตาย (death instinct) หรือความปรารถนาในความตาย (death wish [Thanatos]) ที่มุ่งไปยังภายนอก เช่น ความก้าวร้าว หรือมุ่งเข้าสู่ภายใน เช่น พฤติกรรมที่ทำลายตัวเอง (พึงระลึกไว้ด้วยว่าเป็นการทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำๆ). เขาสร้างทฤษฎีที่ครอบคลุมในเรื่องโครงสร้างของจิต (psyche structure) ซึ่งเขาแบ่งมันออกเป็น 3 ส่วน. ส่วนแรกคือ อิด (id) ซึ่งทำงานในระดับจิตไร้สำนึก เกี่ยวข้องกับการตอบสนองความพึงพอใจในความปรารถนาขั้นพื้นฐานและการปกป้องตัวเอง (self-preservation). มันทำงานโดยเกี่ยวข้องกับหลักแห่งความปรารถนา (pleasure principle) และอยู่นอกขอบเขตของกฎเกณฑ์ทางสังคมและข้อกำหนดทางศีลธรรม. ส่วนต่อมาคือ อีโก (ego) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุผล อีโก้ควบคุมพลังของอิดและนำมันเข้าสู่แนวทางของหลักแห่งความจริง (reality principle) และนำพลังของอิดไปสู่พฤติกรรมที่สามารถยอมรับได้. และส่วนสุดท้ายคือ ซุปเปอร์อีโก้ (superego) หรือศีลธรรม ซึ่งพัฒนาขึ้นในวัยเด็ก ซุปเปอร์อีโก้คอยสอดส่องและตรวจสอบอีโก้ ปรับเปลี่ยนค่านิยมภายนอกให้เข้าสู่ภายในบุคคล เป็นกฎแห่งการควบคุมตัวเองซึ่งใช้ในการต่อต้านอิด. ฟรอยด์มองพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลว่าเป็นผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบทั้ง 3 ส่วนของจิต.
แก่นของโครงสร้างทางจิตของฟรอยด์คือการเก็บกดความต้องการทางสัญชาติญาณที่ไม่ได้รับการตอบสนอง. ในกระบวนการของจิตไร้สำนึก การเก็บกดเกิดขึ้นผ่านชุดของกลไลป้องกันตัวเอง (defense mechanisms). ฟรอยด์เป็นผู้ตั้งชื่อกลไกหลักๆ เหล่านี้ เช่น การปฏิเสธ (denial) (การไม่สามารถยอมรับสิ่งที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล) การหาเหตุผลให้กับตัวเอง (rationalization) (การอธิบายการกระทำของตนเองโดยจุดมุ่งหมายที่สามารถยอมรับได้) การแทนที่ (displacement) (การเปลี่ยนแปลงความรู้สึกที่เก็บกดไว้ไปสู่ความรู้สึกที่สามารถยอมรับได้) การซัดโทษ (projection) (การถ่ายเทความปรารถนาที่ไม่สามารถยอมรับได้ของตนเองไปยังบุคคลอื่น) และการชดเชย (sublimation) (การเปลี่ยนความปรารถนาทางสัญญาติญาณที่ไม่สามารถยอมรับได้ของตนเองไปเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่สามารถยอมรับได้).
ฟรอยด์ปรับปรุงทฤษฎีของเขาอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ 1920 และเปลี่ยนแปลงแง่มุมพื้นฐานจำนวนหนึ่งของเขา เช่น ทฤษฎีแรงจูงใจและทฤษฎีวิตกกังวล.. ในปี 1923 เขาเป็นมะเร็งที่กราม (เกิดจากการสูบซิการ์อย่างหนักตลอดชีวิตของเขา) และเข้ารับผ่าตัดหลายครั้งตลอดระยะเวลา 16 ปีต่อมา. ชีวิตในเวียนนาของฟรอยด์ไม่ปลอดภัยมากขึ้นจากการเกิดขึ้นของนาซีในทศวรรษ 1930 และเขาอพยพไปยังกรุงลอนดอนในปี 1938 หนึ่งปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต. แนวคิดและทฤษฎีจำนวนมากของฟรอยด์ เช่น บทบาทของจิตไร้สำนึก ผลกระทบจากประสบการณ์ในวัยเด็กต่อพฤติกรรมในวัยผู้ใหญ่ และปฏิบัติการของกลไกป้องกันตัวเอง ยังคงเป็นแหล่งข้อมูลที่ทั้งสร้างความขัดแย้งทางความคิดและสร้างแรงบันดาลใจ. หนังสือของเขา ได้แก่ Totem and Taboo (1913), General Introduction to Psychoanalysis (1916), The Ego and the Id (1923), and Civilization and Its Discontents (1930)
แปลจาก Gale Encyclopedia of Psychology หน้า 260 – 261
หมายเหตุผู้แปล
*ฟรอยด์ไม่ใช่จิตแพทย์ เขาเรียนแพทย์ทางด้านประสาทวิทยา และภายหลังการก่อตั้งแนวคิดจิตวิเคราะห์เขาเรียกตัวเองและผู้ปฏิบัติงานด้านนี้ว่า นักจิตวิเคราะห์ (psychoanalyst)
** ในยุคที่ฟรอยด์เกิด แคว้นที่เขาเกิดอยู่ในจักรวรรดิออสโตร- ฮังกาเรียน ปัจจุบันคือประเทศสาธารณรัฐเช็ค

สัญชาตญาณ

ฟรอยด์เชื่อว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณติดตัวมาแต่กำเนิด พฤติกรรมของบุคคลเป็นผลมาจากแรงจูงใจหรือแรงขับพื้นฐานที่กระตุ้นให้บุคคลมีพฤติกรรม คือ สัญชาตญาณทางเพศ (sexual instinct) 2 ลักษณะคือ
  1. สัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีวิต (eros = life instinct)
  2. สัญชาตญาณเพื่อความตาย (thanatos = death instinct)
ฟรอยด์อธิบายว่าสัญชาตญาณทั้ง 2 ลักษณะมีความต้องการทางเพศเป็นแรงผลักดัน ซึ่งบุคคลไม่กล้าแสดงออกมาโดยตรง จึงเก็บกดไว้ในระดับจิตไร้สำนึก (unconscious mind) และได้ตั้งสมมติฐานว่า มนุษย์มีพลังงานอยู่ในตัวตั้งแต่เกิดเรียกว่า “Libido” ซึ่งทำให้บุคคลอยากมีชีวิต อยากสร้างสรรค์และอยากมีความรัก มีแรงขับทางด้านเพศหรือกามารมณ์ (sex) เป็นเป้าหมายคือความสุขและความพอใจ โดยมีอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่ไวต่อความรู้สึก เช่น บริเวณปาก ทวารหนัก อวัยวะสืบพันธุ์ เรียกว่า อีโรจีเนียสโซน (erogenous zone) ซึ่งความพึงพอใจในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะเป็นไปตามวัย เริ่มตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยผู้ใหญ่ ฟรอยด์จึงแบ่งขั้นตอนพัฒนาการบุคลิกภาพของมนุษย์ออกเป็น 5 ขั้น ดังนี้

ขั้นปาก

ขั้นปาก (oral stage) มีอายุอยู่ในช่วงแรกเกิดถึง 18 เดือนหรือวัยทารก ความพึงพอใจ
ของวัยนี้จะอยู่ที่บริเวณช่องปาก ทารกพึงพอใจกับการใช้ปากทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความสุข เช่นการดูด กลืน กัด เคี้ยว แทะ กิน เป็นต้น ส่วนใหญ่ทารกจะใช้ปากในการดูดนมแม่ นมขวด ดูดนิ้วมือหรือสิ่งของ ทารกจะพึงพอใจเมื่อความต้องการดังกล่าวได้รับการตอบสนองที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้เขาโตขึ้นอย่างยอมรับตนเอง สามารถรักตนเองและผู้อื่นได้ ในทางตรงข้าม หากความต้องการของทารกไม่ได้รับการตอบสนองที่เหมาะสม เช่น เมื่อหิวร้องไห้จนเหนื่อยแต่ไม่ได้นมเลย ได้รับนมไม่เพียงพอ ไม่มีคนสนใจ หรือถูกบังคับให้หย่านมเร็วเกินไป ก็จะส่งผลให้เกิดความคับข้องใจ (frustration) เกิดภาวะ “การติดตรึงอยู่กับที่” (fixation) ได้ และก่อให้เกิดปัญหาทางด้านบุคลิกภาพเรียกว่า “Oral Personality” คือจะเป็นผู้ที่มีความต้องการที่จะหาความพึงพอใจทางปากอย่างไม่จำกัด มีลักษณะพูดมาก ชอบดูดนิ้ว ดินสอ หรือปากกาเสมอโดยเฉพาะเวลาที่มีความเครียด นอกจากนี้ยังชอบนินทาว่าร้าย ถากถาง เหน็บแนม เสียดสีผู้อื่น ก้าวร้าว พูดมาก กินจุบกินจิบ ติดเหล้า บุหรี่ เคี้ยวหมากฝรั่งเป็นประจำ อย่างไรก็ตามคนที่มี Oral Personality อาจเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ดีมากเกินไปจนไม่สามารถยอมรับความจริงของชีวิต หรืออาจแสดงตนว่าเป็นคนเก่ง ไม่กลัวใคร และใช้ปากเป็นเครื่องมือ

ขั้นทวารหนัก

ขั้นทวารหนัก (anal stage) มีอายุอยู่ในช่วง 18 เดือน ถึง 3 ปี วัยนี้จะได้รับความพึงพอ
ใจจากการขับถ่าย การที่พ่อแม่เข้มงวดในการฝึกหัดให้เด็กใช้กระโถนและการควบคุมให้ขับถ่ายเป็นเวลาตามความต้องการของพ่อแม่ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของเด็ก จะทำให้เกิดความขัดแย้ง จนเป็น fixation ทำให้เกิดบุคลิกภาพที่เรียกว่า “Anal Personality” คือเป็นคนเจ้าระเบียบ เข้มงวด ไม่ยืดหยุ่น ตระหนี่ หึงหวงคู่สมรสมากเกินไป และมีอารมณ์เครียดตลอดเวลาเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ หรืออาจมีบุคลิกภาพตรงข้าม คือ อาจเป็นคนใจกว้าง สุรุ่ยสุร่าย ไม่เป็นระเบียบ รกรุงรัง

ขั้นอวัยวะเพศ

ขั้นอวัยวะเพศ (phallic or oedipal stage) อายุอยู่ระหว่าง 3 ถึง 5 ปี ความพึงพอใจของ
เด็กวัยนี้อยู่ที่อวัยวะสืบพันธุ์ เด็กจะสนใจอวัยวะเพศของตน และแสดงออกด้วยการจับต้องลูบคลำอวัยวะเพศ สนใจความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชาย เด็กผู้ชายจะมีปมอีดิปุส (oedipus complex) ซึ่งเกิดจากการที่เด็กผู้ชายวัยนี้จะติดแม่ ต้องการเป็นเจ้าของแม่เพียงผู้เดียว ขณะเดียวกันก็ทราบว่าแม่และพ่อรักกัน จึงพยายามเก็บกดความรู้สึกที่อยากเป็นเจ้าของแม่แต่เพียงผู้เดียว และพยายามทำตัวเลียนแบบพ่อ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า “Resolusion of Oedipal Complex” ส่วนเด็กผู้หญิงจะมีปมอีเลกตรา (electra complex) ซึ่งเกิดจากเด็กผู้หญิงมีความรักพ่อแต่รู้ว่าไม่สามารถแย่งพ่อจากแม่ได้จึงเลียนแบบแม่ คือ ถือแม่เป็นแบบฉบับพฤติกรรมของผู้หญิง ในขั้นนี้การยอมรับปรากฏการณ์ทางเพศของพ่อแม่ต่อเด็กวัยนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากพ่อแม่ไม่เข้าใจ เข้มงวดเกินไปจะทำให้เด็กรู้สึกผิด โตขึ้นจะมีปัญหาในเรื่องการรักเพศตรงข้าม ไม่ยืดหยุ่น ขัดแย้งในตนเองอย่างรุนแรง ตำหนิตนเอง ตีค่าตนเองต่ำ ไม่กล้าคิดสิ่งใหม่ ๆ และไม่กล้าถาม

ขั้นแฝงหรือขั้นพัก

ขั้นแฝงหรือขั้นพัก (latency stage) มีอายุอยู่ในช่วง 7 ถึง 14 ปี ฟรอยด์กล่าวว่าเด็กวัยนี้
จะมุ่งความสนใจไปที่พัฒนาการด้านสังคมและด้านสติปัญญา เป็นวัยที่พร้อมจะเรียนรู้การมีเหตุผล รู้ผิดชอบชั่วดี สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว เรียนรู้ที่จะมีค่านิยม ทัศนคติ ต้องการเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวและเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ต่อไป เด็กจะเก็บกดความต้องการทางเพศ จะเล่นหรือจับกลุ่มกับเพศเดียวกัน เริ่มมีเพื่อนสนิทกับเพศเดียวกัน สนใจบทบาททางเพศของตน

ขั้นสนใจเพศตรงข้าม

ขั้นสนใจเพศตรงข้าม (genital stage) วัยนี้เป็นวัยรุ่นเริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป เด็กเริ่ม
สนใจเพศตรงข้าม มีแรงจูงใจที่จะรักผู้อื่น มีความต้องการทางเพศ ความเห็นแก่ตัวลดลง ต้องการเป็นอิสระจากพ่อแม่ เป็นระยะเริ่มต้นของวัยผู้ใหญ่ ต้องการความสนใจ การยอมรับจากสังคม และมีการเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่

บุคคลิกภาพ

ฟรอยด์ เชื่อว่าโครงสร้างบุคลิกภาพของบุคคลมี 3 ประการ คือ
  1. สัญชาตญาณ (id) คือ ตนที่อยู่ในจิตไร้สำนึก เป็นพลังที่ติดตัวมาแต่กำเนิด มุ่งแสวงหา ความพึงพอใจ (pleasure seeking principles) และเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงเหตุผล ความถูกต้อง และความเหมาะสม ประกอบด้วยความต้องการทางเพศและความก้าวร้าว เป็นโครงสร้างเบื้องต้นของจิตใจ และเป็นพลังผลักดันให้ ego ทำในสิ่งต่าง ๆ ตามที่ id ต้องการ
  2. อัตตา (ego) คือพลังแห่งการใช้หลักของเหตุและผลตามความเป็นจริง (reality principle) เป็นส่วนของความคิด และสติปัญญา ตนปัจจุบันจะอยู่ในโครงสร้างของจิตใจทั้ง 3 ระดับ
  3. อภิอัตตา (superego) คือส่วนที่ควบคุมการแสดงออกของบุคคลในด้านของ คุณธรรม ความดี ความชั่ว ความถูกผิด มโนธรรม จริยธรรมที่สร้างโดยจิตใต้สำนึกของบุคคลนั้น ซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการเรียนรู้ในสังคมและวัฒนธรรมนั้น ๆ ตนในคุณธรรมจะทำงานอยู่ในโครงสร้างของจิตใจทั้ง 3 ระดับ
การทำงานของคนทั้ง 3 ประการจะพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลให้เด่นไปด้านใดด้านหนึ่งของทั้ง 3 ประการนี้ แต่บุคลิกภาพที่พึงประสงค์ คือ การที่บุคคลสามารถใช้พลังอีโก้เป็นตัวควบคุมพลังอิด และซูเปอร์อีโก้ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลได้

No comments:

Post a Comment