Sunday, December 12, 2010

การเรียนรู้ที่มาจากจิตใต้สำนึก

การเรียนรู้ที่มาจากจิตใต้สำนึก



Subconscious หรือ จิตใต้สำนึกของมนุษย์นั้น เปรียบได้กับแหล่งเก็บสะสมข้อมูลบันทึกความทรงจำ มีอิทธิพลต่อการทำงานที่อยู่เหนือการควบคุมของสมอง และของร่างกาย จิตใต้สำนึกเกิดขึ้นกับมนุษย์แต่ละคนเมื่อไหร่นั้น ยังไม่อาจบ่งชัดได้ จิตใต้สำนึกอาจมีอยู่ก่อนหน้าที่ชีวิตจะกำเนิดขึ้นมา หรืออาจเกิดขึ้นมาพร้อมกับการก่อกำเนิดชีวิต

การที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ค้นพบว่า มารดาสามารถสื่อสารกับทารกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์นั้น อธิบายได้ว่า สิ่งที่มารดาพยายามสื่อสารกับลูกน้อยในครรภ์ เพื่อปลูกฝังให้ลูกมีพฤติกรรม ไปในทิศทางที่ตนเองต้องการ นั่นก็คือมารดากำลังปลูกฝัง "จิตใต้สำนึก" ให้กับลูก
จิตใต้สำนึก จะเปิดรับสิ่งต่างๆ ได้ดีในช่วง วัยเด็กโดยเฉพาะตั้งแต่วัย 1-7 ขวบ เพราะเด็กในวัยนี้จิตใจยังว่างเปล่าใสสะอาดอยู่มาก สิ่งใดก็ตามที่เด็กรับไปในช่วงวัยเริ่มต้นชีวิตนี้ มักจะฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก ตัวอย่างเช่น เด็กที่เคยโดนสุนัขกัดจะกลายเป็นคนกลัวสุนัข แม้ว่าจะลืมเลือนวันเวลา และเหตุการณ์ในครั้งนั้นไปแล้วก็ตาม แต่ภายในจิตสำนึกยังมีข้อมูลเหล่านี้อยู่ และข้อมูลเหล่านี้จะมีอิทธิพลเสมอต่อระบบประสาท ความรู้สึกและอารมณ์เวลาที่เจอสุนัข ดังนั้น การปลูกฝัง "จิตใต้สำนึก" ที่ดีให้กับเด็กเล็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของเด็กในอนาคต
กระบวนการเรียนการสอน
การเรียนรู้ผ่านจิตใต้สำนึกนั้น น่าสนใจตรงที่ว่าเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้ยัดเยียดหรือใส่อะไรใหม่เข้าไปในตัวเด็ก หากแต่เป็นการ "เปิดใจ" ของเด็กให้มีโอกาสได้ซึมซับรับเอาความดี ความงาม ความจริง ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติด้วยตัวเอง ซึ่งความดี ความงาม ความจริง จากธรรมชาติที่เด็กมีโอกาสได้สัมผัสเรียนรู้นั้นจะนำไปสู่การพัฒนาจิตใต้สำนึกของเด็กให้เติบโตไปพร้อมกับร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา

ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการเรียนรู้ประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ ครู สิ่งแวดล้อม แนวทางการศึกษา
1. ครู จิตใต้สำนึกของเด็กจะเติบโตและวิวัฒนาการเป็น "จิตวิวัฒน์" ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องเริ่มจากผู้ถ่ายทอด คือ ครู เมื่อใดก็ตามที่ครูตระหนักรู้ถึงความงดงามและคุณค่าของธรรมชาติที่ส่งผลต่อจิตใจได้อย่างเข้าใจถึงแก่นแท้แล้วนั้น ครูก็จะสามารถถ่ายทอดสุนทรียภาพได้อย่างมีชีวิตชีวา ถ่ายทอดออกมาจากจิตวิญญาณของความเป็นครูสู่จิตวิญญาณของเด็กโดยผ่านบทเพลง บทกลอน นิทาน กิจกรรมเข้าจังหวะต่างๆ
2. สิ่งแวดล้อม เพราะจิตใจเด็กไม่อาจซึมซับความเป็น "ธรรมชาติ" ได้จากการมองเห็นรูปภาพในกระดาษ ดังนั้น การเรียนรู้ธรรมชาติโดยการได้เข้าไปสัมผัส หรือเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่แท้จริง จึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะเชื่อมโยงและผูกพันเด็กและธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน
3. แนวทางการศึกษาของโรงเรียน การเรียนรู้ผ่านจิตใต้สำนึกนั้น มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาด้านจิตใจ หลักการนี้จึงไม่อาจที่จะสอดคล้องกับแนวทางการศึกษาได้ทุกแนว แนวทางการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้ผ่านจิตใต้สำนึกได้มากที่สุดนั้นได้แก่ แนวทางการศึกษาแบบ วอลดอร์ฟ ของรูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักคิดและครูแนวจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ซึ่งมุ่งเน้น การสร้างสรรค์ ความเที่ยงตรงทางศีลธรรม และการเติบโตของภูมิปัญญา

กระบวนการเรียนการสอน

เพื่อส่งเสริมให้เด็กได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าและได้สัมผัสกับธรรมชาติด้วยจิตวิญญาณ กิจกรรมของเด็ก นอกจากจะส่งเสริมให้เด็กได้เกิดความพร้อมทั้งทางด้านสมอง (Head) ความรู้สึก (Heart) และลงมือกระทำ (Hand) แล้ว ยังสนับสนุนให้เด็กได้ใช้วัสดุอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมจากธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติก กิจกรรมต่างๆ ที่ร่วมกันทำนั้นจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปในทุกสัปดาห์ไม่ว่าจะเป็นการร้อยดอกไม้ การวาดภาพสีน้ำ การทำขนมปัง การปั้นขี้ผึ้ง ตลอดจนการทำสวนผัก ซึ่งเด็กๆ จะได้มีโอกาสได้เรียนรู้การปลูกพืช สังเกตเห็นการเจริญเติบโตรวมทั้งประโยชน์ของพืชผักสวนครัว เป็นต้น

สิ่งที่เด็กจะได้รับคือ ความสุข จากการได้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กได้เต็มอัตรา ใช้ความเป็นเด็กได้อย่างอิสระตามธรรมชาติ เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตชีวาและมีสุขภาพจิตดีด้วย จิตใต้สำนึกที่มีความดี ความงามและความจริงเป็นรากฐานของชีวิต

No comments:

Post a Comment